อัญมณีเลอค่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น "แก้วโป่งข่าม"
อัญมณีเลอค่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น "แก้วโป่งข่าม"
ย้อนอดีตไปประมาณ 103 ปี ( เมื่อปี พ.ศ 2514 ) หรือ 147 ปีที่ผ่านมา ได้มีพรานป่ารุ่นเก่าแก่ ชื่อ นายจี๋ พรานป่าคนนี้เวลาเข้าป่าไม่เคยมีของป่าติดมือมาซักครั้ง แม้กระต่ายป่าสักตัวยังไม่เคยได้มาเลย ทั้งนี้เพราะทุกครั้งที่ไปล่าสัตว์ป่าในบริเวณป่าโป่งหลวงคำภิโรชัย บ้านแม่แก่ง เคยไปล่าสัตว์ที่บริเวณป่าโป่งหลวงหลายครั้ง ทุกครั้งที่ไปล่าไม่เคยได้สัตว์นั้นต้องเกิดอุปสรรค เช่น ปืนที่ยิงสัตว์ป่าเคยใช้ได้เป็นดีนั้นเกิดกระสุนขัดลำกล้อง ลูกปืนยิงไม่ออก ต่อมานายจี๋ คิดวิธีล่าสัตว์ใหม่ในบริเวณดอยโป่งหลวง โดยทำคอกดักสัตว์ ซึ่งสามารถดักเก้งได้ตัวหนึ่งและได้พยายามหาวิธีฆ่าเก้งตัวนั้นเพื่อจะได้นำกลับบ้าน จึงใช้ไม้หลาวทิ่ม ปรากฏว่า เก้งตัวนั้นสามารถหลบคมหลาวได้ทุกครั้งและยังหลุดหนีจากคอกกั้นไปเสียอีก เหตุการณ์ดังกล่าวยังสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงกับนายจี๋อย่างมากเพราะตั้งแต่เป็นนายพรานมา ออกป่าที่ไหนก็ได้สัตว์ทุกครั้งไป แต่กับบริเวณป่าโป่งหลวงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น แม้จะคิดรอบคอบฝีมือดีอย่าไงไรก็ตาม จึงเป็นที่เล่าลือถึงสถานที่แห่งนี้ว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้พรานป่าทั้งหลายไม่กล้าเข้าไปล่าสัตว์ในบริเวณนั้นอีกเลย
นอกจากนี้เคยมีผู้เผาป่าตีเหล่าไฟก็ไม่ไหม้ป่าบริเวณนั้นและยังเคยมีผู้คนเคยเห็นแสงประหลาดอยู่ในป่าบ่อแก้วโป่งหลวงแห่งนี้ ต่อมาชาวบ้านจึงได้แก้วโป่งข่ามที่เห็นเป็นแสงเรืองๆ ในบริเวณดอยโป่งหลวงแห่งนี่ จึงได้เดินตามไปพบแก้วโป่งขามที่มีสีใสแวววับต่อมาชาวบ้านได้พากันไปขุดและได้นำมาเป็นเครื่องประดับตกแต่ง เป็นเครื่องรางของขลังติดตัว ตามความเชื่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน แหล่งกำเนิดหรือวัตถุดิบที่นำมาเจียระไนเป็นแก้วโป่งข่าม แหล่งกำเนิดของแร่ธาตุหรือแก้วโป่งข่าม
“แก้วโป่งข่าม” มีแหล่งกำเนิดบริเวณเทือกดอยขุนแม่อาบ และขุนแม่อวม ขุนดอยต่างๆ อันมีด้วยห้วยออกรู ดอยแม่ผางวง ดอยห้วยมะบ้า ดอยห้วยตาด ดอยโป่งหลวง ดอยห้วยกิ่วตู่ ดอยโป่งแพ่ง ดอยห้วยตาด และดอยผาแดง ในเทือกดอยขุนแม่อาบได้ให้กำเนิดแต่ดอยห้วยออกรูของดอยขุนแม่อาบ ส่วนน้ำห้วยแม่เตินกำเนิดแต่ดอยผาแดงระหว่างดอยขุนแม่อวบ และดอยขุนแม่อาบติดต่อกัน เทือกเขาดังกล่าวคือ เขตดอยพันวาที่กั้นแนวระหว่างเมืองเถิน เมืองลี้เขตจังหวัดลำพูน โดยที่อาณาเขตของบ่อแก้วโป่งข่ามที่เลื่องลือ อยู่ในตอนลุ่มดอยขุนแม่อาบและจอมดอยผาแดง อันเป็นใหญ่ในจอมดอยทั้งปวงในละแวกนั้น
กำเนิดเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์ของแก้วโป่งข่าม อยู่ในศูนย์กลางพื้นที่ซึ่งเรียกกันว่าดอยโป่งหลวง อันให้กำเนิดห้วยโป่งระหว่างช่องดอยโป่งหลวงและโป่งแพ่งติดต่อกัน ห้วยโป่งไหลรวมสมทบกับห้วยมะบ้า และห้วยแม่ผางวงลาดลงสู่บริเวณบ้านนาบ้านไร่รวมกับห้วยบ่อช้างล้วง น้ำห้วยแม่แก่ง ลำน้ำห้วยแม่แก่งก็ไหลขนานกันคนละฟากดอย ไปพบแม่น้ำวังที่บ้านสบเตินและบ้านสบแก่งของแม่น้ำวัง ซึ่งแม่น้ำวัง ซึ่งเป็นเส้นโลหิตใหญ่หล่อเลี้ยงคนในชุมชนลุ่มน้ำวังตอนล่างตั้งแต่พื้นที่ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ไหลผ่านพื้นที่อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง และไปบรรจบลำน้ำปิงบริเวณบ้านปากวัง ตำบลแม่สลิต อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก
บริเวณป่าตามขุนดอยแม่แก่ง มีดินโป่งอยู่หลายแห่งก่อนที่จะถึงบริเวณที่เรียกว่าโป่งหลวง แหล่งกำเนิดชื่อโป่งข่ามมีโป่งแกอยู่ด้านซ้ายมือ โป่งแพ่ง โป่งแม่ล้อม อยู่ถัดๆไปล้อมรอบบริเวณที่เรียกว่าโป่งหลวง พระฤๅษีที่อยู่ในป่ามักอาศัยถ้ำและอยู่ได้ด้วยการอาศัยเกลือจากดินโป่งด้วย ที่เขตน้ำแม่แก่งของตำบลแม่ถอดนี้ มีถ้ำอยู่ถ้ำหนึ่งอาจจะเคยเป็นที่อยู่ของพระฤๅษีในสมัยโบราณ ปัจจุบันเป็นวัดขึ้นแล้วชื่อ วัดสุขเกษม ยังมีตำบลที่อยู่ติดกับตำบลแม่ถอดชื่อตำบลนาโป่ง แต่โดยบริเวณโป่งหลวงอันเป็นที่มีสัตว์ลงกินดินโป่งมากเป็นพิเศษ และ มีกิติศัพท์ในเรื่องราวความข่ามคงต่างๆ อาจจะหมายถึง บริเวณโป่งดินที่เคยข่าม ก็ได้
ทั้งนี้ก็เพราะคำว่า "โป่ง" นี้ หมายถึงสิ่งที่ผุดขึ้นมาได้ด้วย เช่นโป่งน้ำพุร้อน ที่จังหวัดเชียงราย ไส้เทียนที่ลงยันต์คาถาเรียกว่าโป่งเทียนดินที่เป็นพิษต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่นบริเวณสถานที่เรียกว่าโป่งแห้งในเขตตำบลบ้านเป้า อำเภอเมืองลำปาง หมายถึงที่ผุดขึ้นมาของดินพิษ หินที่มีเนื้ออ่อนทำหินลับมีดได้ เช่นหินในเขตอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เรียกว่าหินโป่ง ซึ่งในตำบลแม่ถอดนี้ ยังคงใช้หินโป่งของอำเภอแจ้ห่มเจียระไนแก้วโป่งข่ามอยู่เสมอ
แหล่งแก้วตำบลแม่ถอดเป็นแก้วหินที่งอกอยู่ใต้ผิวดินในลักษณะสิ่งที่ผุดขึ้นมาโดยช่องร้าวของพิภพ เมื่อมีสิ่งมีค่าหาได้ยากผุดขึ้นมาได้เช่นนี้ และมีเรื่องราวของความข่ามคงเล่าสืบกันมาก็อาจจะตีความหมายด้วยวิธีแปลอย่างสละสลวยได้อีกว่าแหล่งที่ผุดขึ้นมาแห่งความข่ามคง ในสภาพสถานที่นั้นเป็นโป่งแก้วอันล้ำค่าอีกด้วย โดยที่เทือกเขาขุนตาลอันแผ่มาถึงขุนแม่ถอด ขุนแม่เตินและขุนแม่อาบ ขุนแม่อวม ซึ่งแผ่ลงมา เป็นอาณาบริเวณบ่อแก้วโป่งข่ามนี้ เป็นภูเขาที่มีรอยผุรอยร้าวน้อยกว่าภาคกลาง หินอัคนีที่แทรกขึ้นมาเป็นช่อง เล็กๆ หินแก้วต่างๆที่กำเนิดจากเทือกดอยดังกล่าวนี้ จึงมีทรงผลึกเล็กๆขนาดจุ๋มจิ๋ม ซึ่งเหมาะที่สุดในการที่จะเป็นหินแก้วประดับมากกว่าประโยชน์ทางอุตสาหกรรมความมีสภาพเป็นทรงผลึกเล็กๆนี่เอง ที่ทำให้ลวดลายต่างๆจากสินแร่อื่นๆเข้าไปปรากฏ จึงมีสภาพที่สมบูรณ์แบบในการที่จะทำเป็นแก้วแหวนต่างๆ เป็นสิ่งที่เรียกว่า โป่งข่าม
จากปรากฏการณ์แต่สมัยก่อกำเนิด มีที่น่าประหลาดมหัศจรรย์ยิ่งก็คือ โดยโครงสร้างของผลึกแก้วต่างๆที่ขุมแก้วโป่งข่าม อยู่ในรูปการแต่งเสริมทางธรรมชาติแปลกๆ คือมีหินแก้วที่งอกขึ้นแล้วงอกขึ้นทับขึ้นอีกดังที่เรียกว่าแก้วเขาแก้ว การแต่งเสริมทางธรรมชาติ เช่นนี้ ย่อมหมายถึงการที่มีการระเบิดของไฟหินอัคนี แต่ดึกดำบรรพ์หลายวาระ จะเห็นว่ามีดอยบางลูกที่ให้แก้วชนิดมีแสงประกาย ซึ่งเกิดทั้งรอยร้าว และ รอยเชื่อมทางธรรมชาติของตนเองระหว่างช่วงที่แข็งตัวแล้วและช่วงที่ละลายคล้ายพฤกษชาติและคราบชีวิตเล็กๆ พร้อมด้วยแสงสีอันมีแต่สมัยกัปปกัลป์ ดูจะคงสภาพไว้ภายใต้แท่งแก้วหน่อน้อยหน่อใหญ่ที่รักษาคราบนั้นไว้ให้เราดู และได้รับสิ่งที่ควรเรียกว่าพิพิธภัณฑ์บนนิ้วมือ สิ่งนี้คือส่วนประกอบขึ้นพร้อมการกำเนิดของหินอัคนี เหนือขุนดอยโป่งข่ามบริเวณดอยโป่งหลวง อันเป็นศูนย์กลางของที่กำเนิดชื่อโป่งข่าม หินอัคนีแยงขึ้นในลักษณะทแยงตามแนวลาดของไหล่เขา จึงมีผู้ขุดพบและตามสายแก้วตามรูปทำเลของผิวดิน จึงเสมือนหนึ่งมีอำนาจลึกลับดลบันดาลสิ่งที่จะให้แก่ชาวบ้านได้ขุดหน่อแก้วกันอย่างที่ถือว่าโชคดีที่สุดแล้ว
หินแก้วต่างๆของอำเภอเถิน ชาวบ้านเรียก หินแก้วมิได้เรียกว่าพลอย มีข้อสังเกตประการหนึ่งคือคนทางเหนือจะเรียกแก้วสีแดงว่า "พลอยแดง" เช่นการพบแก้วสีแดงในกรุพระเจดีย์เขตอำเภอฮอดแต่สมัยสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จล่องแก่งผ่านบริเวณดังกล่าวในเขตอำเภอเถินมีหินแก้วสีม่วง (Amethyst Quarts) อยู่ในเขตตำบลแม่วะ ซึ่งรู้จักกันดีว่า "พลอยสีม่วง" ที่พบในภูมิภาคอื่นๆมีคนนิยมมาก แต่พลอยสีม่วงนี้ ไม่มีในบ่อแก้วโป่งข่ามมีสิ่งแปลกประหลาดมากสำหรับหินแก้วในบ่อแก้วโป่งข่าม มีแร่ทองคำเข้าไปอยู่ด้วย ซึ่งฝ่ายผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป็นไปได้ เพราะกำเนิดแร่ควอตซ์ที่อำเภอเถินอยู่ในอุณหภูมิต่ำที่อาจจะมีแร่ทองคำเข้าไปอยู่ได้ ทั้งนี้ย่อมขึ้นกับการเข้าใจ เพราะสินแร่ต่างๆที่เข้าไปปรากฏในแก้วโป่งข่ามบางอย่าง เช่นพวกแร่เหล็กปนกำมะถัน ให้สีทองเหมือนกัน มีพวกแร่ "ไพไรท์" ที่เข้าไปอยู่บางคนเข้าใจผิด เรียกว่าก้อนทองก็มี ยังมีพวกปวกต่างๆ อันเป็นแร่ที่สามารถเจริญเติบโตได้เมื่อเจ้าของเอามาเลี้ยงกับน้ำ ถือเป็นเครื่องรางด้วย
บางรายเอาแหวนแก้วโป่งข่ามใส่ตู้เย็นแล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงของปวกทั้งสีสันต่างๆ ที่ดูแผ่โตขึ้นมา แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในแก้วโป่งข่าม คือ คราบเหลืองๆที่ปรากฏขึ้นตามซอกร้าวของแก้วแก้วโป่งข่ามบางเม็ด มีลายเหมือนลายในก้อนน้ำแข็ง และลายฝ้า ซึ่งเรียกว่าหมอกมุงเมือง ใช้เป็นเครื่องเสี่ยงทาย หรือเพ่งดูนรกสวรรค์ทางสมาธิ มีแร่ผลึกสี่เหลี่ยมคือข้าวตอกพระร่วงเข้าไปอยู่ข้างใน หรือพวกแร่โลหะต่างๆ พวกเส้นเข้าไปอยู่เหมือนเข็ม หรือเหมือนขนแปลง มีแร่บางชนิดที่ตกผลึกอยู่ในรูปต้นไม้ หรือรูปพุ่มดอกต่างๆ บ้างเป็นกลีบคล้ายหอย ฯลฯ
ในการวิเคราะห์ตัวอย่างแก้วโป่งข่าม มีผู้พบแร่บุษราคัมขาว (Topaz) แซกอยู่ด้วย บ่อแก้วต่างๆในเขตดอยโป่งข่าม ที่นักขุดหาหน่อแก้วนิยมกันคือ บ่อเด่นยาว บ่อโป่งแพ่ง บ่อโป่งหลวง และบ่อผาแดงบ่อแก้วผาแดงมีชื่อเสียงในการเป็นแหล่งกำเนิดแก้วน้ำดี เนื้อแกร่งมีเส้นแร่ต่างๆ ที่เรียกว่าเส้นขนเหล็กขนไหมต่างๆ ทั้งที่ตกเป็นเส้นกอและเส้นพุ่ม ส่วนบ่อแก้วโป่งหลวมมีชื่อเสียงเกี่ยวกับแก้วสีฟ้า และสีฟ้าแร มีทั้งแก้วใส แก้วขาว และแก้วหม่นบ่อโป่งแพ่งมีทั้งสีฟ้าอ่อนและเส้นขนเหล็กขนาดเล็กๆ ไม่เกินเส้นผม บ่อโป่งแพ่งนี้ อยู่ใกล้บ่อโป่งหลวง และมีพวกแก้วปวกต่างๆถึงบ่อเด่นยาว อยู่ใกล้บ่อโป่งหลวง และมีพวกแก้วปวกต่างๆถึงบ่อเด่นยาว ยังมีบ่อสำคัญอีกบ่อหนึ่ง คือบ่อห้วยช้างล้วงซึ่งเป็นเขาลูกเดียวกับห้วยออกรูต้นกำเนิดน้ำแม่แก่ง ให้แก้วชนิดขนยุงแซมไหม หรือเส้นขนเหล็กแบบเส้นพุ่ม และแก้วแรทีออกสีชาจากแร่เฟลด์สปาร์ ซึ่งเรียกว่ามุกดาหาร (Moon Stone)
มีเรื่องเล่ากันว่า แก้วประเภทขนยุงแซมไหม ยกให้เป็นแก้วปู่ขัน ซึ่งเป็นลุงแก่ๆ นักหาหน่อแก้วลวดลายพิเศษซึ่งคนอื่นๆต้องอิจฉา ต้องสะกดรอยเพื่อค้นหาความลับบ่อแก้วของบ่อปู่ขัน เรื่องราวในทำนองเดียวกันเกี่ยวกับแก้วสีฟ้า คือเรื่องของย่านวล หญิงแก่ผู้ค้นพบแก้วสีฟ้า เราจะเห็นว่า ในกรุโบราณต่างๆ มีแก้วชนิดอื่นอยู่มาก แต่ขาดแก้วสองชนิดนี้ ซึ่งควรถือเป็นของดีที่เพิ่งค้นพบ และมีราคาสูงกว่าพวกตระกูล "พลอยแดง" ที่พบในตำบลแม่วะ อ.เถิน จ.ลำปาง แก้วโป่งข่าม วิสาหกิจชุมชน ของคนแม่ถอด ชุมชนบ้านนาบ้านไร่ หมู่ที่ 5 ,บ้านแม่แก่ง หมู่ที่ 4, บ้านแม่เติน หมู่ที่ 3 และบ้านแม่เตินเหนือ หมู่ที่ 13 มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มสลับภูเขา มีพื้นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตร เพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและหาของป่า เป็นรายได้เสริมของคนในชุมชน
เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นป่าราบสลับภูเขา จึงมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และแร่ธาตุต่างๆ มากมายด้วยพื้นที่เหล่านี้ ได้แก่ หินอ่อน แร่เหล็ก ฟลูออไรด์ แร่ ทองคำ ฯลฯ ซึ่งทรัพยากรตกผลึกหลอมรวมกันนั้น ชาวอำเภอเถิน เรียกทรัพยากรชนิดนี้ว่า “แก้วโป่งข่าม” แก้วโป่งข่ามหรือหินเขี้ยวหนุมานมีความแข็งเทียบได้กับแร่ควอทซ์ (มีความแข็งอันดับ 3 รองจากเพชร) โดยโป่งข่ามเหล่านี้ ตกผลึกสวยงามตามธรรมชาติ และชนิดของแร่ธาตุที่ปะปนกันอยู่ในเม็ดแก้ว เมื่อเจียระไนทำเป็นเครื่องประดับแล้วสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ผู้สวมใส่ ตามตำนานเล่ากับสืบมาว่าแก้วที่ขุดได้จากดอยโป่งหลวงเขตพื้นที่บ้านนาบ้านไร่ ตำบลแม่ถอดแล้ว จะเป็นแก้วโป่งขามที่คนทั่วไปในอำเภอเถิน จังหวัดลำปางเป็นที่นิยม มีความเชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์สามารถแคล้วคลาดจากภัยอันตรายต่างๆให้ความร่มเย็นเป็นสิริมงคลต่อเคหะสถานบ้านเรือน
บ้านนาบ้านไร่ หมู่ที่ 5 ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ในสมัย 200 ปี ที่ผ่านมา สภาพทั่วไปของหมู่บ้านในสมัยนั้นเป็นพื้นที่ป่ารกร้างต่อมามีชาวบ้านในหมู่บ้านเวียงและอุมลอง ตำบลล้อมแรดมาถากถางทำไร่ ไถ่เป็นนาและย้ายครอบครัวมาสร้างหมู่บ้านและได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “นาบ้านไร่” ต่อมาได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ เป็นบ้านนาบ้านไร่ หมู่ที่ 5 ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเถินประมาณ 10 กิโลเมตร การคมนาคม เข้าสู่ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ โอทอป บ้านนาบ้านไร่ หมู่ที่ 5 ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธินสายเก่า) จากกรุงเทพมหานคร นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก ถึงอำเภอเถิน บริเวณกิโลเมตรที่ 538 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนเถิน –ลี้ บริเวณกิโลเมตร ที่ 3 เข้าสู่ถนนดอนทราย-แม่แก่ง ผ่านบ้านดอนทราย หมู่ที่ 13 ตำบลล้อมแรดอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เข้าสู่ บ้านดงไชย หมูที่ 7 ,บ้านสุขสวัสดิ์ หมู่ที่ 12 .บ้านนาบ้านไร่ หมู่ที่ 5 และบ้านแม่แก่ง หมู่ที่ 4 หากมุ่งตรงไปถนนดอนทรายแม่แก่ง จะพบบ้านแม่เติน หมู่ที่ 3 และบ้านแม่เตินเหนือ หมู่ที่ 13 ซึ่งเป็นแหล่งผลิตภัณฑ์แก้วโป่งข่ามของตำบลแม่ถอดเช่นกัน (สายสุรีย์ คำน้อย.ผลิตภัณฑ์ แก้วโป่งข่าม.2555)